โบราณสถานและโบราณวัตถุ



พระอุโบสถ
          
          พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน อาคารเดิมยาว ๑๐ วา ๑ ศอก กว้าง ๔ วา ๓ ศอก มีมุขหน้า –หลัง พื้นภายในแบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนล่าง ๔ ห้อง ปูกระเบื้องหน้าวัว มีบันไดขึ้น๓ ขั้น ตอนบน ๓ ห้อง ปูศิลาอ่อน หลังคาลดชั้น ๓ ชั้น มุงกระเบื้องไทยมีช่อฟ้าใบระกา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่ คือ รื้อพื้นตอนหลังในพระอุโบสถที่ ปูกระเบื้องหน้าวัวออก และปูพื้นประดับเชิงเสา เชิงผนังและบันไดด้วยศิลาอ่อน และสิ่งชำรุดมีประตูหน้าต่าง ช่อฟ้า ใบระกา เป็นต้น ลักษณะพระอุโบสถในปัจจุบัน คือ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาด ๗ ห้อง กว้าง ๓ ห้อง ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ๑.๑๕ เมตร มีมุขหน้าและหลัง หน้าบันมุขเป็นลายปูนปั้นรูปช้างเอราวัณมีพระมหามงกุฎอยู่หลังช้าง มีพระเศวตฉัตรประดับอยู่ ๒ ข้าง พื้นหลังประดับกระจกสีครามและปิดทอง มุขด้านหน้าพระอุโบสถด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ปางเปิดโลก ซุ้มเป็นรูปปูนปั้นประดับกระจกยอดทรงมงกุฎ ๓ ยอด ประตูข้างเป็นยอดปราสาทมีซุ้มจระนำ ภายในมีปูนปั้นพระมหามงกุฎและพระเศวตฉัตร ซุ้มหน้าต่างทำแบบเดียวกัน มีหน้าต่างด้านละ ๗ บาน ประตูด้านละ ๒ บาน ขนาดกว้าง ๑.๔๕ เมตร สูง ๒.๗๗ เมตร บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ ด้านในเขียนสีรูปทวารบาล เหนือกรอบประตูหน้าต่างด้านในมีจารึกอักษรขอม และทำกรอบสี่เหลี่ยมติดไว้เหนือประตู หน้าต่างทุกช่อง ขนาดกว้าง ๑๐๓ เซนติเมตร ยาว ๑๘๖ เซนติเมตร และจารึกที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้าขนาดกว้าง ๖๓ เซนติเมตร ยาว ๑๐๐ เซนติเมตร ประตูหน้าต่างเขียนลายแจกันดอกบัวภายในพระอุโบสถเหนืออาสนสงฆ์เป็นที่ตั้งซุ้มเรือนแก้วยอดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๒ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๓ ศอก ๑ นิ้ว มีพระนามว่า พระสัมพุทธมนี ภายในซุ้มเรือนแก้ว อาสนสงฆ์ยกพื้นสูงจากพื้นพระอุโบสถ ๐.๘๐ เมตร กว้างเต็มพระอุโบสถตรงหน้าพระประธานออกมาประมาณ ๓ ห้อง และมีบันไดลงสู่พื้นพระอุโบสถ และทำฐานยื่นระหว่างเสาคู่ทั้ง ๓ ตั้งธรรมาสน์ เสานางเรียงภายในพระอุโบสถเป็นเสาสี่เหลี่ยม ขนาด ๐.๖๘ x ๐.๖๘ เมตร ๒ แถวๆละ ๖ ต้น รวม ๑๒ ต้น เขียนลายประจำ ยามก้านแย่งหัวเสาและตีนเสาเป็นหน้ากระดานก้านต่อดอกหน้ากระดานก้านแย่งตลอดต้น พื้นปูหินอ่อนและประดับเชิงผนังและเชิงเสาด้วยหินอ่อนขึ้นไปสูงถึงระดับ ๐.๘๐ เมตร

พระสัมพุทธมุนี พระประธานในพระอุโบสถ 
     เพดานและท้องคานทับหลังเสาเขียนลายทองรูปดาวล้อมเดือน ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง พื้นสีแดง ขื่อและตัวไม้เครื่องบนอื่นๆ เขียนลายทองพื้นสีคราม คานทับหลังหัวเสาเขียนเทพชุมนุมลอยอยู่เต็มท้องฟ้าท่ามกลางกลุ่มเมฆสีขาว ด้านนอกพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ หลังพระอุโบสถตั้งพระเจดีย์องค์ใหญ่รวมไว้ในเขตพัทธสีมา มีใบเสมา หินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมตั้งไว้บนกำแพงแก้วฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นทั้งสิ้น มีรองพื้น มีทัศนียวิสัย เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน โดยแบ่งฝาผนังออกเป็น ๒ ส่วน คือผนังด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน เหนือเส้นลวดตั้งแต่วงกบประตูหน้าต่างขึ้นไปจรดเพดานและคอสองทั้ง ๒ ข้าง ใต้เพดานด้านหน้าด้านหลังและด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน เขียนเป็นระบายทอดลงมาจากเพดาน ใต้ระบายเขียนภาพเทวดาลอยท่ามกลางหมู่เมฆสีขาวเป็นกลุ่มๆ หันหน้าไปทางพระประธาน ส่วนที่ ๒ ตั้งแต่วงกบประตูหน้าต่างใต้เส้นลวดลงมา เป็นภาพระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเขียนเล่าเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน

การลำดับภาพ (ห้องภาพระหว่างช่องประตูหน้าต่าง)
     ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน (ทิศตะวันออก) ระหว่างช่องประตูเขียนเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล้องเหนือเกยหน้าพลับพลา มีกองทหารเกียรติยศด้านหน้าพลับพลาเป็นหมู่ๆ มีสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ประทับอยู่ที่ฐานเกยตอนล่าง มุมห้องทั้ง ๒ ด้าน เขียนพระสงฆ์ปลงซากศพชักผ้าบังสุกุลและบำเพ็ญสมถกรรมฐาน

     ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน (ทิศตะวันตก) ตอนล่างหน้ากระดานก้านแย่ง เขียนภาพปริศนาธรรมพระสงฆ์ปลงซากศพชักผ้าบังสกุลและบำเพ็ญสมถะกรรมฐาน ข้างละ ๑ องค์

            ผนังด้านซ้ายพระประธาน (ทิศเหนือ) ห้องระหว่างช่องหน้าต่างนับจากผนังหุ้มกลองด้านหน้าไปจรดผนังด้านหลังพระประธานห้องภาพที่ ๑ คือพระราชพิธีเดือน ๕ เรียงเรื่องตามลำดับเดือนไทย ดังนี้

พิธีเดือน ๕  พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสระสนานใหญ่
          พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสระสนานใหญ่ พระราชพิธีแห่คเชนทรัศวสนาน เป็นภาพเขียนใหม่ เป็นพระราชพิธีเดือน ๔ ติดต่อถึงเดือน ๕ หรือเดือนมีนาคมติดต่อกับเดือนเมษายน คือพิธีรดเจตร หรือรดน้ำเดือน ๕ การรดน้ำพระสงฆ์ในเวลาสงกรานต์และเจริญสิริมงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะและกำลังแผ่นดิน โดยกำหนดให้ปลูกโรงที่พระสงฆ์สรงน้ำ ในภาพตั้งพิธีขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง โดยตั้งขันสาครใบใหญ่ กั้นพระวิสูตร ตรงหน้าขันมีแท่นประทับ มีที่ปล่อยน้ำออกจากขันลงสรง นอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีภาพขบวนช้างม้า ท้ายขบวนมีภาพคนหาบชะนีและมีร่มกางให้ชะนีด้วย

พิธีเดือน ๖ พระราชพิธีวันพืชมงคล-วันวิสาขบูชา
          พระราชพิธีวิสาขบูชา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเดือน ๖ หรือเดือนพฤษภาคม กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวันพิธีเพื่อระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในภาพเขียนมีพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก กำลังสวดมนต์อยู่ในพระอุโบสถ ไกลออกไปเป็นภาพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีต่อเนื่อง
พิธีเดือน ๗ การพระราชกุศลสลากภัต
          พระราชพิธีสลากภัต เป็นพระราชพิธีเดือน ๗ หรือเดือนมิถุนายน เป็นพระราชพิธีจัดของหลวงถวายพระจับสลาก ในภาพมีขบวนสตรีหาบสลากภัต และสำรับคาวหวานเครื่องไทยทานเป็นขนมผลไม้ต่างๆ มีพราหมณ์เป่าสังข์ ๒ คน นำหน้า ตามด้วยวงดุริยางค์ โดยแห่นำไปวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนที่หน้าประตูวิเศษไชยศรีไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร มีทั้งข้าราชสำนัก นางกำนัล และประชาชน นำอาหารและผลไม้เข้าวัด เพื่อถวายพระจับสลาก

พิธีเดือน ๘  พระราชพิธีเข้าพรรษา
          พระราชพิธีเข้าพรรษา เป็นพระราชพิธีเดือน ๘ หรือเดือนกรกฎาคม ในภาพมีภาพวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่เบื้องหลัง พระที่นังราชฤดีอยู่เบื้องขวา ตรงลานหน้าพระที่นั่งราชฤดีมีภาพนาคโกนผมแล้วนุ่งผ้ายกทรง สวมเสื้อครุยชายขลิบทองยืนบนแท่นสูงมีสัปทนกางกั้นให้นาค ทั้ง ๓ นาคกำลังโปรยทานทิ้งมะนาวและมีกลุ่มคนนั่งถือเครื่องอัฏฐบริขาร

พิธีเดือน ๙  พระราชพิธีพิรุณศาสตร์
           พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เป็นพระราชพิธีเดือน ๙ หรือเดือนสิงหาคม เป็นพิธีขอฝนขอพืชผลพรรณรุกขชาติต่างๆ ที่เป็นอาหารแห่งมนุษย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ในภาพมีพระที่นั่งโถง ๒ องค์อยู่ชิดกัน มีพระสงฆ์อยู่ในพระที่นั่งองค์เล็กหลายรูป ที่พื้นด้านหน้าพระที่นั่งมีบุรุษนุ่งขาวห่มขาวเกล้ามวยแบบพราหมณ์กำลังทำพิธีบวงสรวง เครืองบูชามีหัวหมู บายศรี มีเต่าและปลาวางอยู่หน้าพราหมณ์ นอกกำแพงมีเด็กกำลังเล่นว่าว มีคนกำลังจะจับปลาในนา บ้างก็ตั้งห้างอยู่กลางนา ป้องตามองดูท้องฟ้า ตอนล่างมีคนลักษณะเป็นเจ้านายขี่ม้า มีบริวารถือหีบและกระเป๋าเดินตาม พิธีนี้รัชกาลที่ ๔ ตั้งพิธีที่บนหอพระ ที่ท้องสนามหลวง รัชกาลที่ ๓ ตั้งพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พิธีเดือน ๑๐  พระราชพิธีภัทรบท คือพิธีสารท
        พระราชพิธีภัทรบท คือพิธีสารท เป็นพระราชพิธีเดือน ๑๐ หรือเดือนกันยายน มหาชนทำมธุปยาสทาน เป็นปฐมการเก็บเกี่ยวกระทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยบูชาแม่โพสพเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวในนา ป้องกันไม่ให้ข้าวเป็นอันตราย เดิมพิธีนี้ตั้งปะรำพิธีกวนข้าวทิพย์ขึ้นที่หอเทพพิทยาหรือหอราชพิธีกรรม ต่อมาปลูกโรงขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในภาพปะรำพิธีประดับเครื่องขาวทั้งหมด มีพราหมณ์ ๔ คน ทำพิธีบวงสรวงตั้งบูชาหัวหมู บายศรี มีสาวพรหมจารีนุ่งขาวห่มขาวสวมสร้อยข้อมือและสังวาลย์ทองกวนสิ่งของในกะทะทอง เวลาเช้าถวายเครื่องบูชาพระสยามเทวาธิราช และเสด็จเลี้ยงพระจัดข้าวทิพย์มาประเคนพระสงฆ์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและวัดต่างๆ ผนังด้านขวาพระประธาน (ทิศใต้) นับจากผนังหุ้มกลองด้านหลังห้องระหว่างช่องหน้าต่างช่องที่ ๑ คือพระราชพิธีเดือน ๑๑ เรียงเรื่องตามลำดับเดือนไทยขึ้นไปจรดผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธานเป็นห้องภาพที่ ๑๒ พระราชพิธีเดือน ๔ ดังนี้คือ

พิธีเดือน ๑๑ พระราชพิธีกฐินหลวง
           พระราชพิธีกฐินหลวง๑ เป็นพระราชพิธีเดือน ๑๑ หรือเดือนตุลาคม ในภาพมีขบวนช้างและม้าสำหรับเชิญเครื่องพระกฐิน พระราชพิธีนี้กระทำขึ้นหลังจากออกพรรษาเป็นคราวที่พระภิกษุทั้งหลายหาผ้าทำจีวรเปลี่ยนของเดิม ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒
พิธีเดือน ๑๒  พระราชพิธีลอยพระประทีป
          พระราชพิธีลอยพระประทีป เป็นพระราชพิธีเดือน ๑๒ หรือเดือนพฤศจิกายน ตั้งพิธีที่ท่าราชวรดิฐ มีเรือทอดทุ่นรักษาการกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนิน ในภาพแสดงพลับพลาซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นส่วนพวกทหารชั้นผู้ใหญ่และทหารมหาดเล็ก ส่วนกลางเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ส่วนที่สามเป็นส่วนของนางสนมกำนัลชาววัง มีฉากม่านปิดกั้นมิดชิด ที่ท่าน้ำมีบรรดาชาววังชายหญิงนั่งอยู่ริมน้ำ บ้างก็ลอยกระทง พายเรือ และตีกลองเล่นการละเล่นต่าง ๆ มีเรือหลวงประเภทต่าง ๆ ลอยอยู่กลางน้ำ โดยมีทุ่นแสดงเป็นแนวเขตของการป้องกันอันตราย ทางด้านซ้ายของภาพ มีกระทงใหญ่ลอยอยู่กลางน้ำ ท่ามกลางกระทงหลายขนาดต่างกัน ตกแต่งเป็นรูปบัวหลวง รูปดอกไม้ รูปเรือใบ เรือพระราชพิธี ภายในกระทงมีข้าว น้ำตาล ขนม

พิธีเดือนอ้าย พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
          พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง เป็นพระราชพิธีเดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม เมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจเป็นวันที่หยุดจะกลับขึ้นเหนืออยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ในราศีธนู ตั้งประรำพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยภายในพระบรมมมหาราชวัง ซึ่งเป็นภาพเขียนเป็นภาพนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีพระภิกษุเดินเป็นแถวถือตาลปัตรเข้าสู่ประตูชั้นใน มีคนนั่งไหว้อยู่เป็นระยะ ทางด้านขวาของภาพมีหญิงชาววังจับกลุ่มอยู่ใต้โรงพิธีที่สร้างด้วยไม้ กำลังทำอาหารซึ่งคงเป็นขนมเบื้องมีภาชนะคือกะทะ

พิธีเดือนยี่ พระราชพิธีตรียัมปวาย
           พระราชพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีเดือนยี่ หรือเดือนมกราคม เป็นการทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่ตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมาโปรดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์แล้วสวดมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ วัน ภาพห้องนี้ลบเลือนมาก เหลือแต่ด้านซ้ายที่เป็นขบวนช้างพระที่นั่ง ขบวนพิธีผ่านพระตำหนัก มีปะรำพิธีทำด้วยผ้าสีขาว ไกลออกไปเป็นภาพเตรียมงาน ด้านขวาเป็นพิธีโล้ชิงช้า มีพราหมณ์แต่งชุดขาวทำการโล้กระดานแทนพระยา ๔ คน มีผู้คนกำลังยืนมุงดูพิธีดังกล่าว

พิธีเดือน ๓  พระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีน
          พระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีน เป็นพระราชพิธีเดือน ๓ หรือเดือนกุมภาพันธ์ พระราชพิธีนี้เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งพิธีที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ในภาพเขียนบริเวณพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีศาลาทรงไทย ๔ หลัง ที่ศาลาโถงกำลังมีงานเลี้ยงพระ มีคนนิมนต์พระขึ้นจากเรือแจว ชาววังหญิงชายถวายเครื่องภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ด้านขวาเป็นภาพสตรีชาววังนำอาหารถวายพระโดยให้ผู้ชายเป็นผู้นำไปถวายในพระที่นั่ง
พิธีเดือน ๔  พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์
             พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เป็นพระราชพิธีเดือน ๔ หรือเดือนมีนาคม ติดต่อเลยไปถึงเดือน ๕ เป็นพิธีตรุษสุดปี กำหนดให้พระสงฆ์สรงน้ำ มีตุ่มเรียกว่า นางเลิ้ง ตั้งไว้หลายใบ เป็นพิธีสวัสดิมงคลแก่พระนครและพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนราษฎร พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ประกาศขับผีสาง ยิงปืนขู่ตวาดให้ผีตกใจ ในภาพมีขบวนทหารเตรียมยิงสลุต ตั้งพิธีนอกพระบรมมหาราชวัง