อดีตเจ้าอาวาส

ประวัติ
บุรพเจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

องค์ที่ ๑ พระพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ๒๔๐๖-๒๔๒๔
องค์ที่ ๒ พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) ๒๔๒๕-๒๔๔๑
องค์ที่ ๓ พระพรหมเทพาจารย์ (กล่ำ เหมโก) ๒๔๔๑-๒๔๖๔
องค์ที่ ๔ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) ๒๔๖๔-๒๔๖๕
องค์ที่ ๕ พระพรหมเทพาจารย์ (เจ๊ก กุสุโม) ๒๔๖๕-๒๔๗๘
องค์ที่ ๖ พระครูโยคานุกูล (ไสว อมโร) ๒๔๗๘-๒๔๙๗
องค์ที่ ๗ พระราชเมธากร (หลี สิกฺขกาโม) ๒๔๙๗-๒๕๑๖
องค์ที่ ๘ พระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ) ๒๕๑๖-๒๕๔๓
องค์ที่ ๙ พระราชสุทธิโมลี (พินิจวราจาโร) ๒๕๔๔-๒๕๕๒
องค์ที่ ๑๐ พระราชเมธากรกวี (ปญฺญาโสภโณ) ๒๕๕๓-ปัจจุบัน



องค์ที่ ๑ พระพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว)
พ.ศ. ๒๔๐๖ - ๒๔๒๔ (๑๘ ปี)
                   นามเดิมชื่อ บุญรอด เกิดเมื่อไรไม่ปรากฏ ชาติภูมิที่ตำบล บ้านคล่อ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทฝ่ายมหานิกายที่วัดวัง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่ออุปสมบทไม่ทราบเรื่องอายุ ฉายา และ พ.ศ. ภายหลังได้ย้ายมาอยู่วัดขุนญวน อำเภอกรุงเก่า และได้เป็นเจ้าอาวาสด้วย ต่อมาได้ญัตติใหม่ในฝ่ายธรรมยุต มีฉายาว่า พฺรหฺมเทโว ได้รับสมณศักดิ์คราวแรกเป็น พระครูพรหมเทพาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดขุนญวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเสนาสฯ เสร็จแล้ว ทรงโปรดฯให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเสนาสฯ และต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพรหมเทพาจารย์ ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ปกครองวัดอยู่ ๑๘ ปี อายุและพรรษาไม่ปรากฏ


องค์ที่ ๒ พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ)
พ.ศ. ๒๔๒๕ - ๒๔๔๑ (๑๗ ปี)
             นามเดิมชื่อ ต่าย เกิดวันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ ชาตภูมิที่ตำบลบางเพลิง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอโนมสิริเป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทที่วัดราชาธิราช พ.ศ. ๒๓๙๐ อายุได้ ๒๑ ปี ฉายา วารโณ เป็นพระเปรียญธรรม ๘ ประโยค พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณรักขิต ต่อมารับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเสนาสฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า และในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับฐานนันดรศักดิ์เสมอเจ้าคณะอรัญญวาสี แต่คงดำรงยศที่ พระธรรมราชานุวัตร ท่านได้อาพาธเป็นโรคไข้ทรพิษ ถึงแก่กาลมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ปกครองวัดอยู่ ๑๗ ปี รวมอายุ ๗๒ พรรษา ๕๒


องค์ที่ ๓ พระพรหมเทพาจารย์ (กล่ำ เหมโก)
พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๖๔ (๒๓ ปี)
          นามเดิมชื่อ กล่ำ เกิดวันศุกร์ เดือน ๗ พ.ศ. ๒๓๙๐ ชาติภูมิที่ตำบลบ้านแค อำเภอราชคราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทมีพระพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดน้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทที่วัดเสนาสฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ อายุได้ ๒๒ ปี ฉายา เหมโก ในพรรษาที่ ๔ เป็น พระใบฎีกา พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็น พระสมุห์ ภายหลังเป็นพระปลัดของพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) ที่ พระครูปลัดมหาเถรานุวัตร ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้เลื่อนเป็น พระครูเสนาส์ และได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระพรหมเทพาจารย์ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นโท ท่านได้อาพาธด้วยโรคชรา ถึงกาลมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ปกครองวัดอยู่ ๒๓ ปี รวมอายุ ๗๕ พรรษา ๕๓


องค์ที่ ๔ พระญาณดิลก (รอด วราสโย)
พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๖๕ (ปีเศษ)
                นามเดิมชื่อ รอด เกิดวันพุธ เดือนยี่ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ชาติภูมิที่ตำบลหน้าโคก อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทมีพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดมหาเถรานุวัตร (กล่ำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทที่วัดเสนาสฯ อายุได้ ๒๑ ปี ฉายา วราสโย ต่อมาสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูโยคานุกูล พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า พระญาณดิลก เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และเป็น เจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ต่อมาท่านเกิดอาพาธเป็นวัณโรค ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดอยู่ราวปีเศษ รวมอายุ ๕๑ ปี พรรษา ๔๔


องค์ที่ ๕ พระพรหมเทพาจารย์ (เจ๊ก กุสุโม)
พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๗๘ (๑๓ ปี)
               นามเดิมชื่อ เจ๊ก เกิดวันจันทร์ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๔๑๕ ชาติภูมิที่ตำบลหัวรอ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทมีพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดเถรานุ-วัตร (กล่ำ) และพระมหากลีบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทที่วัดเสนาสฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ อายุ ๒๑ ปี ฉายา กุสุโม พรรษา ๒ เป็นพระครูสมุห์ พรรษา ๔ เป็นพระครูวินัยธร เมื่อมีอายุ ๔๘ พรรษา ๒๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูโยคานุกูล เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ และเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามว่า พระพรหมเทพาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านได้อาพาธด้วยวัณโรค ถึงกาลมรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๒๓ นาฬิกาเศษ เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดอยู่ ๑๓ ปี รวมอายุ ๖๔ พรรษา ๔๔

องค์ที่ ๖ พระครูโยคานุกูล (ไสว อมโร)
พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๙๗ (๑๙ ปี)
                   นามเดิมชื่อ ไสว เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๐ ชาติภูมิที่ตำบลบ้านคล่อ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การอุปสมบทมีพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดมหาเถรานุวัตร และพระมหาดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออายุ ๒๑ ปี ที่วัดเสนาสฯ ฉายา อมโร ได้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและรับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูโยคานุกูล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แต่ท่านมีโรคมาเบียดเบียนมาก ทำให้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ ท่าน จึงลาออกจากเจ้าอาวาส ต่อมาท่านได้อาพาธด้วยโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับประสาท จนถึงกาลมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ปกครองวัดอยู่ ๑๘ ปี รวมอายุ ๗๗ พรรษา ๕๖

องค์ที่ ๗ พระราชเมธากร (หลี สิกฺขกาโม)
พ.ศ. ๒๔๙๗ – ๒๕๑๖ (๑๙ ปี)
                   นามเดิมชื่อ หลี นามสกุล ไวทยางกูร เกิดวันศุกร์ ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ชาติภูมิที่บ้านสวนพริก ตำบลสวนพริก อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี พ.ศ.๒๔๕๑ อายุ ๑๘ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทที่วัดเสนาสฯ พ.ศ. ๒๔๕๓ มีพระพรหมเทพาจารย์ (กล่ำ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาดิศ และพระมหารอด วราสโย (พระญาณดิลก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นพระเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔รับสมณศักดิ์เป็น พระครูพรหมเทพาจาย์ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพรหมเทพาจารย์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธากร และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธ) พ.ศ.๒๔๙๓ ท่านอาพาธด้วยโรคชรา ถึงกาลมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ปกครองวัดอยู่ ๑๙ ปี รวมอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑


องค์ที่ ๘ พระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ)
พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๔๓ (๒๗ ปี)
              นามเดิมชื่อ ปาน นามสกุล โพธิกุล เกิดวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ปีฉลู ชาติภูมิที่ตำบลบ้านแห อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง การอุปสมบทมีพระครูโยคานุกูล (ไสว) เป็น พระอุปัชฌาย์ พระครูพิทักษ์ธุรกิจ (นัย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ รับสมณศักดิ์เป็น พระครูโยคานุกูล พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นพระครูสัญญา-บัตรชั้นเอก พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระประสาธน์สารคุณ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธากร พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุทธิโมลี พ.ศ. ๒๕๓๕ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุต)

ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ) เป็นเจ้าอาวาสรูปเดียว ในจำนวนอดีตเจ้าอาวาสทั้ง ๑๐ รูปของวัดเสนาสฯ ที่เป็นผู้มีชาติภูมิอยู่ในจังหวัดอื่น มิใช่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ จังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีการบูรณปฏิสังขรณทั่วพระอารามที่ได้ทำแล้วเสร็จในสมัยของท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธิโมลี อีกดังต่อไปนี้คือ

ฌาปนสถาน และศาลาบำเพ็ญกุศล ๑๐ หลัง พร้อมรั้ว กำแพงรอบฌาปนสถาน และลานจอดรถทั่วพื้นที่ กำแพงใหญ่แห่ง พัทธสีมา พร้อมซุ้มประตูทุกช่อง พระอุโบสถ โดยได้เปลี่ยนเครื่องชำรุด กระเบื้องมุงหลังคา ฉาบผนัง ปั้นลายปูนปั้น กรอบประตูหน้าต่างทุกช่องได้ทำการลงรักปิดทองปิดกระจก บูรณะพระวิหาร พระอินทร์แปลง บูรณะพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ บูรณะโรงเรียนนักธรรมคณะกรุงเก่า บูรณะศาลาดิน บูรณะองค์พระเจดีย์องค์ใหญ่ประธาน พร้อมทั้งองค์เล็กอีก ๑๐ องค์ ซ่อมแซมกุฏิแถวคณะใต้ (ทิศใต้ของพระอุโบสถ) ซึ่งเป็นกุฏิที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) สร้างถวาย

สรุปแล้ว งานบูรณปฏิสังขรณ์ซ่อมและสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะภายในวัดเสนาสฯ สำเร็จมากมายล้วนเป็นผลงานของท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ) ฝากไว้ทั้งนั้น


องค์ที่ ๙ พระราชสุทธิโมลี (พินิจ วราจาโร)
พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๕๒ (๘ ปี)

                 ชื่อเดิม พินิจ นามสกุล กาญจนวิไล เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๗๒ ปีมะเส็งบิดาชื่อ นายพิง กาญจนวิไล มารดาชื่อ นางจำเนียร กาญจนวิไล ณ บ้านเลขที่ ๗๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรพชา วันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ วัดเสนาสนา-ราม  ตำบลหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุปัชฌาย์ พระครูโยคานุกูล (ไสว) วัดเสนาสนาราม อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ ณ วัดเสนาสนาราม พระอุปัชฌาย์ พระครูพรหมเทพาจารย์ (หลี)   วัดเสนาสนาราม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระกรรมวาจาจารย์ พระครูสรนาทวิเศษ วัดเสนาสนาราม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอนุสาวนาจารย์ พระปลัด ปาน (ปาน อิสิญาโณ) วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา