พระวิหารพระอินทร์แปลง
พระวิหารพระอินทร์แปลง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๒.๕ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบหน้าบันและเครื่องประดับเป็นปูนปั้น มีประตูด้านหน้า ๒ ประตู ตอนกลางระหว่างประตูมีหน้าต่าง ๑ บาน หน้าต่างด้านข้างด้านละ ๔ บาน บานสุดท้ายทางด้านหลังทำเป็นประตูออกข้างผนังด้านหลังติดต่อกับวิหารพระพุทธไสยาสน์ จึงเป็นผนังทึบด้านหน้ามีมุข สร้างสกัดหน้า ทำช่องซุ้มโค้งเป็นประตูหน้าต่าง ทุกซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นถอดพิมพ์ บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ ด้านในเขียนสีลายทวารบาล พื้นปูหินอ่อน ยกพื้นขึ้นเป็นอาสนสงฆ์ เพดานปิดทองลายฉลุ รูปดาวล้อมเดือน ตรงกลางผนังด้านหลังสร้างเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ตอนหน้าของห้องสร้างเรือนแก้ว ประดิษฐานพระประธาน "พระอินทร์แปลง" และพระสาวกยืนถวายสักการะอยู่ทั้ง ๒ ข้าง
ประวัติ “พระอินทร์แปลง”
พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์เมื่อปี ๒๔๐๑ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลง น่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณ น่าตักศอกเศษพระสององค์นี้องค์ที่ออกชื่อก่อนฉันจะรับประทานไปไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาพฤฒาราม วัดตะเคียนที่ให้ไปสร้างขึ้นไว้ใหม่...
วัดมหาพฤฒารามหรือวัดตะเคียนที่ทรงออกชื่อในพระราชหัตถเลขา ว่าจะเชิญพระอินทร์แปลงไปเป็นพระประธานนี้ เป็นวัดเก่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงบูรณะเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ต้นรัชกาล เล่ากันว่ามูลเหตุมาจากครั้งเมื่อยังทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓ เสด็จมาทรงทอดผ้าป่าที่วัดซึ่งขณะนั้นยังมีชื่อว่าวัดท่าเกวียน พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุถึง ๑๐๗ ปีแล้วได้ถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตเร็วๆนี้" มีรับสั่งตอบว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่" เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดท่าเกวียนใหม่ทั้งพระอาราม ซึ่งใช้เวลายาวนานตั้งแต่ปี ๒๓๙๗ จนถึง ๒๔๐๙ เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ส่วนพระอธิการแก้ว พระราชทานแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระมหาพฤฒารามตามสมณศักดิ์ของพระอธิการแก้ว
การที่ทรงตั้งพระทัยจะบูรณะวัดตะเคียนอย่างจริงจัง อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรงคิดว่าจะเอา "พระที่มีชื่อ" ไปไว้ แต่จะด้วยเหตุใดไม่แจ้ง ปรากฏว่าโปรดให้ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไว้ ณ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยาแทน
วัดเสนาสนารามเดิมชื่อวัดเสื่อ เป็นวัดเก่ามีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่า มีการบูรณะครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอารามในปี ๒๔๐๖ หากพิจารณาช่วงเวลาก็เห็นได้ว่าเมื่อเชิญพระอินทร์แปลงและพระพุทธรูปล้านช้างองค์อื่นๆ ลงมาในปี ๒๔๐๑ นั้นได้
พักพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ที่พระนครศรีอยุธยาก่อนขณะนั้นการปฏิสังขรณ์วัดมหาพฤฒารามเพิ่งดำเนินไป ได้เพียง ๔ ปี และยังใช้เวลาต่อไปจากนั้นอีกถึง ๘ ปี จึงแล้วเสร็จ
อนึ่งในระหว่างการก่อสร้างคงมีความไม่สะดวกอยู่มากภายในวัด ดังที่โปรดให้ภิกษุสามเณรย้ายไปอยู่ยังวัดปทุมคงคาชั่วคราว จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไปเป็นวัดเสนาสนารามที่พระนครศรีอยุธยานั้นเอง ซึ่งก็เป็นวัดที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหญ่เช่นกันและแล้วเสร็จก่อนวัดมหาพฤฒาราม หลายปี
พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ศิลปล้านช้างปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ สูงตลอดพระรัศมี ๓ ศอก ๓ นิ้ว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญมาแต่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑) ประดิษฐานบนฐากซุกชี ด้านหลังทำเป็นรูปซุ้มศรีมหาโพธิ์ทำด้วยปูนปั้น เนื่องจากฐานเดิมมีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ประดิษฐานอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวให้บูรณพระอาราม ไม่อาจจะนำพระอินทร์แปลงวางทับที่เดิมจึงทำซุ้มครอบองค์เดิม แล้วนำพระอินทร์แปลงประดิษฐานไว้ด้านหน้า ส่วนพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์อยู่ในซุ้มด้านหลังจะไม่มีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก เมื่อไม่มีลิงและช้าง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ จึงทรงให้ช่างเขียนภาพช้างและลิงถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในวิหารนี้จึงไม่มีลิงและช้างให้เห็นอีกต่อไป
ตอนบนสุดเขียนวิทยาธร คล้ายวิทยาธรที่พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา คั่นด้วยริ้วริบบิ้นตลอดทั้ง ๓ ด้าน แล้วเขียนลายดอกไม้ร่วง เหนือขอบหน้าต่างเขียนเทพชุมนุมนั่งพนมมือหันหน้าไปทางพระประธาน ระหว่างองค์เทพคั่นด้วยตาลปัตร มีเส้นลวดกั้นภาพ ระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนภาพเล่าเรื่อง มีภาพวัดเสนาสนาราม ๓ ช่อง ตรงมุมด้านหน้าพระวิหารเขียนภาพพระสงฆ์เดินลงจากวิหารพระอินทร์แปลง เขียนใบหน้าเป็นภาพเหมือนมีแสงเงาน่าจะเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่ง